จากการที่ภาครัฐเตรียมคลายล็อกผ่อนปรนให้บางธุรกิจที่มีความจําเป็นต่อการดํารงชีวิตและมีการแพร่เชื้อในสถานที่อยู่ในเกณฑ์ต่ำกลับมาเปิดได้ตั้งแต่วันที่ 3 พ.ค. เป็นต้นไป โดยมีร้านอาหาร ที่อยู่นอกห้างสรรพสินค้ารวมอยู่ด้วย แต่มีข้อกำหนดเช่น ให้จัดระยะห่างระหว่างโต๊ะ อย่างน้อย 1 เมตร ไม่จัดให้นั่งตรงข้ามกัน และให้พิจารณาทำฉากกั้น ระหว่างผู้รับประทานอาหาร
ด้วยเงื่อนไขที่มีข้อจำกัดทำให้บางร้าน แม้จะเข้าหลักเกณฑ์ที่เปิดได้แต่ยังไม่พร้อมเปิด เพราะไม่สามารถดำเนินการได้ หรือเปิดแล้วไม่คุ้มโดยเฉพาะกลุ่มร้านอาหารที่เหมาะกับการทานเป็นกลุ่ม
ฉากกั้นแบบตัว U ภาพ : FB Penguin Eat Shabu – เพนกวินกินชาบู
วันที่ 2 พ.ค. ธนพันธ์ วงศ์ชินศรี เจ้าของร้าน Penguin Eat Shabu โพสต์เฟซบุ๊ก ถึงการออกแบบฉากกั้นเพื่อให้เป็นไปตามเงื่อนไขของมาตรการ โดยระบุว่าเริ่มออกแบบตั้งแต่เป็นตัว U แต่ฉากแบบตัว U กินพื้นที่ 1 คนต่อโต๊ะ ขาดทุนตั้งแต่เปิดร้าน ก่อนจะปรับมาเป็นตัว S แต่คนนั่งจะอึดอัดจนมาออกแบบเป็นตัว Z ซึ่งคิดว่าเป็นแบบที่ดีที่สุด
ฉากกั้นแบบตัว Z
แต่ภายหลังจากที่โพสต์ภาพไป มีเพื่อนได้ออกแบบฉากกั้นใหม่ แบบรูปทรงยึกยักจึงนำไปทดลองทำและทดลองใช้งานจริง พบว่าวางจานง่ายและผู้ทานไม่อึดอัด โดยใช้งบทำฉากเพียงแค่ 300 บาท
เขาบอกว่า “แค่จากการลองทำฉากกั้น ก็ทำให้ได้รู้ว่า ไอเดียแรกมันไม่เคยดีที่สุด แต่มันจะทำให้เราได้ไอเดียที่ดีขึ้นและดีกว่า ตราบใดที่เรายังไม่หยุดปรับตัว” #อย่ารอให้ทุกอย่างพร้อมแล้วค่อยทำ
ส่วนแนวคิดที่เมื่อลองทำแล้วโพสต์ไปในออนไลน์ เพราะต้องการบอกให้ทุกคนรับรู้ว่า #อย่ารอให้ใครมาคิดแทนเรา
ภาพ : FB Thanapan Vongchinsri
“ถ้าในเมื่อเรารู้ว่า เราไม่สามารถหวังอะไรกับรัฐบาลหรือตัวช่วยอะไรตอนนี้ได้ การออกกฎมาว่า ให้นั่งโต๊ะละคน โดยไม่ได้บอกความชัดเจน คนทำร้านอาหารแค่คิดในใจก็รู้ว่าเปิดไปไงก็ขาดทุนอยู่ดี เราเลยตัดสินใจลองคิด #โมเดลพบกันครึ่งทาง คือ ทำฉากกั้นแบ่งครึ่งโต๊ะ เพื่อให้สามารถรับได้สองคน และ นั่งห่างกัน 1ม. โดยที่ถ้าโต๊ะกว้าง 80-90ซม. คนนั่งก็เอาตัวออกห่างขอบโต๊ะแค่คนละ 5-10ซม. ก็น่าจะพอได้ละ (คิดเอาเองก่อน)”
ธนพันธ์ ระบุด้วยว่า แม้ยังมีความไม่ชัดเจน แต่เขาตัดสินใจจะเปิดร้าน 2 สาขา เพื่อว่าถ้าอย่างน้อยผิดยังเป็นตัวอย่างให้คนอื่นรู้ว่าแบบนี้ไม่ได้ โดยจะเปิดวันอังคารนี้ ที่ สาขาอารีย์ และราชพฤกษ์
ขอบคุณ: workpointnews และ บทสัมภาษณ์ ธนพงศ์ วงศ์ชินศรี อีกหนึ่งผู้ร่วมก่อตั้ง Penguin Eat Shabu